top of page

บทละครเรื่องรามเกียรติ์

ผู้แต่ง : 
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชนิพนธ์เมื่อพ.ศ.๒๓๑๓


จุดมุ่งหมายในการแต่ง :
เพื่อใช้เล่นละครหลวงด้วย ในพ.ศ.๒๓๑๓ นี้พระองค์ทรงยกกองทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราชจึงโปรดให้หัดละครหลวงขึ้น และทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์เพื่อใช้เล่นละครและใช้ในงานสมโภชต่างๆ


ลักษณะการแต่ง :
ทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนบทละคร และบอกชื่อเพลงหน้าพาทย์ไว้ด้วย ต้นฉบับบทละครเรื่องนี้เป็นสมุดไทยดำ ตัวหนังสือเป็นเส้นทอง มีจำนวน ๔ เล่มสมุดไทย

 

เนื้อเรื่อง :
มี ๔ ตอน คือ
      ๑.ตอนพระมงกุฎประลองศร เนื้อเรื่องตอนนี้เป็นตอนท้ายของเรื่องรามเกียรติ์แต่ทงพระราชนิพนธ์ขึ้นก่อนตอนอื่นๆ เนื้อเรื่องมีว่า นางสีดามาอาศัยอยู่กับฤาษีวัชมฤคและประสูติพระมงกุฎ พระฤาษีได้ชุบพระลบเป็นเพื่อนกับพระมงกุฏและชุบศรให้เป็นอาวุธพระมงกุฏและพระลบได้ประลองศรยิงต้นรัง เสียงศรดังกึกก้องจนถึงกรุงอโยธยา พระรามได้ยินเสียงจึงประกอบพิธีอัศวเมธ โดยมีพระภรต พระสัตรุด และหนุมานคุมกองทัพตามม้าอุปการ พระมงกุฎจับม้าอุปการ จึงรบกับหนุมาน หนุมานเสียที พระภรตจึงเข้าช่วยและจับพระมงกุฎมาถวายพระราม พระลบตามไปช่วยได้และพากันหนี พระรามยกกองทัพออกติดตาม จึงรบกับพระมงกุฎ ภายหลังจึงทราบว่าเป็นพ่อลูกกัน
        ๒. ตอนหนุมานเกี้ยวนางวาริน เนื้อเรื่องตอนแรกขาดหายไป เริ่มแต่หนุมานพบนางวารินในถ้ำ นางวารินนั้นเป็นนางฟ้าถูกพระอิศวรสาปให้มาอยู่ในถ้ำ คอยพบหนุมานเพื่อบอกทางแก่หนุมานไปฆ่าวิรุณจำบัง แล้วจึงจะพ้นคำสาป เมื่อหนุมานพบนางวาริน นางไม่เชื่อว่าเป็นหนุมาน หนุมานจึงต้องหาวเป็นดาวเป็นเดือนให้ดู นางจึงเชื่อหนุมานเกี้ยวนางวารินและได้นางเป็นภรรยา ต่อมาหนุมานไปฆ่าวิรุณจำบังตามที่นางวารินบอก เมื่อฆ่าวิรุณจำบังแล้ว หนุมานจึงกลับมายังถ้ำ และส่งนางวารินกลับเขาไกรลาสตามที่ได้สัญญาไว้กับนาง
         ๓. ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ   เป็นตอนต่อจากหนุมานเกี้ยวนางวาริน ทศกัณฐ์ทราบว่าวิรุณจำบังตาย จึงทรงทูลเชิญท้าวมาลีวราชพระอัยกาผู้มีวาจาสิทธิ์มาว่าความท้าวมาลีวราชเสด็จมายังสนามรบ
ทศกัณฐ์เข้าเฝ้ากล่าวโทษพระราม ท้าวมาลีวราชจึงทรงตรัสสั่งให้พระรามและนางสีดาเข้าเฝ้าเพื่อไต่ถามความจริง นางสีดาทูลตามความเป็นจริงท้าวมาลีวราชจึงตรัสให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดาแก่พระราม แต่
ทศกัณฐ์ไม่ยอม ท้าวมาลีวราชจึงทรงสาปแช่งทศกัณฐ์ และอวยพรให้แก่พระรามแล้วเสด็จกลับ
        ๔. ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด ตอนนี้เป็นตอนต่อจากท้าวมาลีวราชว่าความ เรื่องมีว่า ทศกัณฐ์มีความแค้นเทวดาที่เป็นพยานให้แก่พระราม จึงทำพิธีปลุกเสกหอกกบิลพัทที่เชิงเขาพระสุเมรุ และทำพิธีเผารูปเทวดา พระอิศวรจึงมีเทวบัญชาให้เทพบุตรพาลีมาทำลายพิธี ทศกัณฐ์พุ่งหอกกบิลพัทหมายสังหารพิเภก พิเภกหลบไปอนยู่หลังพระลักษณ์ พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัทสลบไป พิเภกทูลพระรามให้หายามาแก้ไขพร้อมแม่หินบดยาที่เมืองบาดาล และลูกหินบดยาที่ทศกัณฐ์หนุนนอน พระรามให้หนุมานไปหายาพร้อมแม่หินและลูกหิน หนุมานเข้าเมืองลงกาเพื่อไปนำลูกหินบดยามา และผูกผมทศกัณฐ์กับผมนางมณโฑไว้ด้วยกัน พระฤาษีโคบุตรต้องมาช่วยแก้ผมให้


คุณค่าของหนังสือ : 
เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงฟื้นฟูวรรณคดีในรัชสมัยของพระองค์ และแสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ในการละครอีกด้วย บทละครที่ทรงคัดเลือกมาทรงพระราชนิพนธ์ก็เป็นตอนที่มีคุณธรรม ปลุกปลอบให้ประชาชนมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น
ดั่งเช่นตอนพระมงกุฎประลองศร เมื่อพระรามกับพระมงกุฎเข้าใจกันแล้วก็ทำให้เกิดความสงบสุข บางตอนก็สอดแทรกคำสอนทางพระพุทธศาสนาไว้ เช่น พระฤาษีโคตบุตรสอนทศกัณฐ์ให้มีศีลและมีหิริโอตตัปปะ เป็นต้น


อิทธิพลของเรื่องรามเกียรติ์ที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย :
รามเกียรติ์เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่คนไทย เพราะเนื้อเรื่องมีความสนุกสนาน ประกอบด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์และสอดแทรกคุณธรรมไว้ อีกทั้งอุปนิสัยของตัวละครก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมของไทย เช่น นางสีดาเป็นแบบแผนของหญิงที่มีความชื่อสัตย์ต่อสามี พระรามเป็นแบบแผนของลูกที่ดี เป็นต้น รามเกียรติ์จึงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยหลายประการดังนี้ คือ
         ๑. ด้านภาษาและวรรณคดี ีมีสำนวนที่มาจากเรื่องรามเกียรติ์หลายสำนวน เช่น ลูกทรพี เหาะเกินลงกา สิบแปดมงกุฎ ราพณาสูร ตกที่นั่งพิเภก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้นิยมแต่งรามเกียรติ์ ทำให้เกิดรามเกียรติ์หลายสำนวน
         ๒. ด้านศิลปกรรม รามเกีรติ์ก่อให้เกิดแรงดลใจให้จิตรกรนำเรื่องราวไปวาดภาพตามฝาผนังโบสถ์ วิหาร เช่นเดียวกับเรื่องชาดกนอกจากนั้นยังมีการแกะสลัก การปั้นตัวละครต่างๆ ในเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อใช้ประดับในที่ต่างๆ
        ๓. ด้านนาฏศิลป์ เรื่องนี้นิยมนำมาแสดงโขน ละคร หนังใหญ่ จึงนับว่ามีอิทธิพลต่อนาฏกรรมไม่ใช่น้อย
         ๔. ด้านประเพณี รามเกียรติ์ให้ความรู้เกี่ยวกับด้านประเพณีต่างๆโดยเฉพาะพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีวิวามงคล พระราชพิธีราชาภิเษก พิธีปล่อยม้าอุปการ การยกทัพ เป็นต้น
         ๕. ด้านความเชื่อ พระรามเป็นพระนารายณ์อวตาร ฉะนั้น พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ จะใช้พระนามของพระรามเพื่อความเป็นสิริวัสดิมงคล เช่น พระรามาธิบดี พระราเมศวร เป็นต้น
         นอกจากนั้น เรื่องรามเกียรติ์มีอิทธิพลในด้านโหราศาสตร์ และการใช้ชื่อในรามเกียรติ์เป็นชื่อของสถานที่ ชื่ออาหาร เป็นต้น  เช่น ถนนพระราม ๔ (ชื่อสถานที่) พระรามลงสรง(ชื่ออาหาร)  รามเกียรติ์จึงมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมิใช่น้อย

ฉบับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

bottom of page