ว ร ร ณ ค ดี ไ ท ย ♥
นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน
ผู้แต่ง :
พระยามหานุภาพ
จุดมุ่งหมายในการแต่ง :
เพื่อเล่าเรื่องการเดินทางโดยเรือสำเภาไปกรุงปักกิ่งกับคณะราชทูตไทย ซึ่งไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีน เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 10 ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. 2324 เป็นวรรณคดีนิราศ แต่เป็นนิราศเล่าเรื่องการเดินทาง ไม่มีการพรรณนาความรักถึงหญิงคนรักเหมือนนิราศเรื่องอื่นๆ
ลักษณะคำประพันธ์ :
กลอนนิราศ คือกลอนสุภาพ แต่จะขึ้นต้นด้วยวรรครับ และลงท้ายด้วย เอย นิราศเรื่องนี้มีความยาว 285 บท
เรื่องย่อ :
กวีกล่าวถวายบังคมลาพระเจ้าแผ่นดิน แล้วกล่าวถึงเรื่องที่ไทยกับจีนมิได้ติดต่อเจริญไมตรีกันถึง 25 ปี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาสน์และเครื่องบรรณาการไปยังปักกิ่งโดยเรือสำเภา 11 ลำ ตอนท้ายเรื่องกล่าวสรรเสริญว่าเป็นเพราะพระบารมีของพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเดินทางโดยปลอดภัย
คุณค่าของเรื่อง :
1. คุณค่าด้านประวัติศาสตร์ นิราศเรื่องนี้มีความสำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่บันทึกเรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีน ณ กรุงปักกิ่ง
2. คุณค่าด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ธรรมเนียมการเข้าพบขุนนางอุปราชของจีน การเข้าถวายเครื่องราชบรรณาการ การไหว้ผีน้ำ การเผากระดาษที่วาดรูปบุคคลใส่ไว้เพื่อสะเดาะเคราะห์ การไหว้เทพ การไหว้เจ้า
3. คุณค่าด้านตำนาน กวีผ่านสถานที่บางแห่งก็ได้เล่าตำนานไว้ด้วย เช่น ตำนานภูเขาช้างข้าม ภูเขาอินตั้ง
4. คุณค่าด้านสังคม กวีผ่านสถานที่ใดก็จะเล่าสภาพบ้านเมือง สภาพชีวิตของผู้คนที่พบเห็น
5. คุณค่าด้านวรรณศิลป์ กลอนนิราศเรื่องนับว่ามีความสำคัญ กล่าวคือ เป็นกลอนที่เชื่อมต่อระหว่างกลอนอยุธยาซึ่งนิยมใช้สัมผัสพยัญชนะมากว่าสัมผัสสระภายในวรรค กับกลอนรัตนโกสินทร์ซึ่งเริ่มนิยมสัมผัสสระภายในวรรคมากขึ้น กระทั่งสุนทรภู่แต่งกลอนโดยใช้สัมผัสสระภายในวรรคอย่างสม่ำเสมอจนเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน
เดิม นิราศกวางตุ้ง