top of page

อิเหนาคำฉันท์

ผู้แต่ง :
หลวงสรวิชิต(หน) แต่งอิเหนาคำฉันท์ โดยบอกไว้ในตอนท้ายของเรื่องว่าแต่งเสร็จเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีกุน พ.ศ.๒๓๒๒ เป็นปีที่ ๑๒ แห่งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หนังสือเล่มนี้หอสมุดแห่งชาติได้จัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณสมัย รัชกาลที่ ๕ ต่อมากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้ตรวจสอบและชำระอิเหนาคำฉันท์จนเสร็จบริบูรณ์


จุดมุ่งหมายในการแต่ง : 
เพื่อแสดงความสามารถในการแต่งฉันท์และรักษาเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมาแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ



ลักษณะการแต่ง : 
แต่งเป็นคำฉันท์ปนกาพย์
     

เนื้อเรื่อง :
จับตอนตั้งแต่ อิเหนา เผาเมืองดาหา แล้วลอบนำ บุษบา ไปซ่อนไว้ในถ้ำ พร่ำงอนง้อขอความรักจากนาง แต่บุษบาไม่ยอมคืนดี อิเหนาจึงแสร้งทำเป็นโศกเศร้า พระพี่เลี้ยงไม่ทราบอุบายจึงเกลี้ยกล่อมให้บุษบาโอนอ่อนผ่อนปรนแก่อิเหนา เพื่อจะได้มีโอกาสกลับบ้านเมือง อิเหนาจึงได้เชยชมนางบุษบาสมใจ ทางฝ่ายเมืองดาหา เมื่อไฟดับแล้ว ท้าวดาหา ทรงทราบว่าบุษบาถูกลักพาไป ทรงคาดคะเนว่าอิเหนาคงเป็นตัวการ แต่มิได้ตรัสแก่ผู้ใด เมื่อ จรกา รู้ว่าบุษบาหายไปก็โกรธ เตรียมยกกองทัพออกติดตาม ล่าสำ พี่ชายเตือนว่าผู้ลอบนำนางไปคงเป็นอิเหนา

จรกาบังเกิดความยำเกรงยิ่งนักแต่ฝืนยกทัพต่อไป จนพบรี้พลของ สังคามาระตา จรกาถามข่าวถึงอิเหนา สังคามาระตาแกล้งตอบว่ากำลังไปล่าเนื้อ จรกาเล่าถึงเหตุร้ายที่เกิดขึ้น สังคามาระตาแสร้งพลอยทำเป็นเสียใจ แล้วสั่งพี่เลี้ยงไปตามอิเหนา ในระหว่างนั้นอิเหนาฝันว่านกอินทรีมาจิกนัยน์ตาข้างขวาไปจึงสังหรณ์ใจว่าจะต้องพรากจากนาง พอทราบว่าระตูทั้งสองมาหาก็คิดไปแก้สงสัยในเมือง ขณะอิเหนาฟังเรื่องที่จรกาเล่าก็แสร้งทำเป็นโกรธ เพราะรู้ทีว่าจรกาลอบสังเกตอยู่ พอนึกถึงความฝันอิเหนาก็เลยร้องไห้ออกมาด้วยความจริงใจ

คุณค่าของหนังสือ :
แต่งขึ้นเพื่อรักษาเรื่องอิเหนามิให้สูญหาย เนื่องจากบทละครเรื่องอิเหนาสมัยกรุงศรีอยุธยาสูญหายไป และหนังสือเล่มนี้มีความไพเราะมากเล่มหนึ่งในกระบวนฉันท์ ในด้านสังคม หนังสือเล่มนี้ยังได้แสดงให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยโดยทั่วไปอีกด้วย

bottom of page