top of page

โคลงหริภุญชัย

ผู้แต่ง :

สันนิษฐานว่าอาจชื่อทิพย์ หรือศรีทิพย์



ความเป็นมา :

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ว่า อาจแต่งประมาณ พ.ศ. 2180 หรือก่อนหน้านั้นขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะเวลาที่พระพุทธสิหิงค์ยังประดิษฐานอยู่ที่เชียงใหม่ราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และกวีทางใต้คงนำมาดัดแปลงราวรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ได้ศึกษาโคลงเรื่องนี้ โดยเทียบกับต้นฉบับภาษาไทยเหนือที่เชียงใหม่และลงความเห็นว่าน่าจะแต่งขึ้นใน พ.ศ. 2060 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งเป็นเวลาที่พระแก้วมรกตยังอยู่ทีเจดีย์หลวงเชียงใหม่ เนื่องจากนิราศเรื่องนี้กล่าวถึงพระแก้วมรกตไว้ด้วย

 

ลักษณะคำประพันธ์ :

เดิมแต่งเป็นโคลงไทยเหนือ ต่อมามีผู้ถอดเป็นโคลงสี่สุภาพ

 

ความมุ่งหมาย :

เพื่อบรรยายความรู้สึกที่ต้องจากหญิงที่รักไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย ส่วนผู้ถอดโคลงนี้เป็นภาษาไทยกลางแต่ไม่ปรากฏชื่อคงมีความประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญองค์ใดองค์หนึ่ง



เรื่องย่อ :

เริ่มบทบูชาพระรัตนตรัย บอกวันเวลาที่แต่ง แล้วกล่าวถึงการที่ต้องจากนางที่เชียงใหม่ไปบูชาพระธาตุหริภุญชัยที่เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ก่อนออกเดินทางได้นมัสการลาพระพุทธสิหิงค์ ขอพรพระมังราชหรือพระมังรายซึ่งสถิต ณ ศาลเทพารักษ์ นมัสการลาพระแก้วมรกต เมื่อเดินทางพบสิ่งใดหรือตำบลใดก็พรรณนาคร่ำครวญรำพันรักไปตลอดทางจนถึงเมืองหริภุญชัย ได้นมัสการพระธาตุสมความตั้งใจ บรรยายพระธาตุ งานสมโภชพระธาตุ ตอนสุดท้ายลาพระธาตุกลับเชียงใหม่



คุณค่าและความสำคัญของเรื่อง :

       โคลงเรื่องนี้มีลักษณะเป็นการพรรณนาความอาลัยรักเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ สถานที่ และสภาพภูมิประเทศ ซึ่งผู้แต่งได้ประสบและนำพฤติการณ์ในชีวิตของตนไปเปรียบเทียบกับบุคคลในวรรคดีอื่นๆ การใช้ถ้อยคำไพเราะ มีภาษาไทยเหนือปะปนอยู่มาก

        นอกจากนี้ วรรณคดีเรื่องนี้ยังเป็นหลักฐานยืนยันถึงที่ตั้งปูชนียสถาน และโบราณวัตถุที่เชียงใหม่ และลำพูน เช่น พระพุทธสิหิงค์ พระแก้วมรกต ที่วัดกุฎาราม (เจดีย์หลวง) ประตูเชียงใหม่และเวียงกุมกาม (เมืองเก่าระหว่างเชียงใหม่กับลำพูน) วัดพระธาตุหริภุญชัย กล่าวถึงความเจริญทางพุทธศาสนาและวรรณคดีเรื่องอื่นๆ เช่น สุธนู สมุทรโฆษ รามเกียรติ์ พระรถเมรี ท้าวบารสกับนางอุษา เป็นต้น
         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับความสำคัญของโคลงหริภุญชัยไว้ในฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2467 ว่า อาจเป็นต้นแบบอย่างของนิราศที่แต่งเป็นโคลงและกลอนกันในกรุงศรีอยุธยา ตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทร์ ถ้ามิได้เป็นแบบอย่างก็เป็นนิราศชั้นเก่าที่สุด



bottom of page